การตลาด
เครื่องเงินของวัดศรีสุพรรณนั้น มีการทำขายทั้งขนาดภาพใหญ่-เล็ก สามารถสั่งทำตามลวดลายที่ต้องการได้ และมีการสั่งออกไปต่างจังหวัด รวมถึงคนไทยในต่างประเทศก็สั่งซื้อได้ราคาขึ้นอยู่กับลวดลายและขนาดของภาพ วัดศรีสุพรรณ เน้นการจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง
มีการประชาสัมพันธ์สินค้าและผลิตภัณฑ์ตามงานแสดงสินค้าที่อำเภอ และสถานที่ราชการ รวมไปถึงถนนคนเดิน สินค้าที่ทางกลุ่มผลิตจะเน้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยการสร้างสินค้าให้มีความหลากหลายในการจำหน่ายสินค้า ราคาที่ตั้งจะคำนวณจากความยากง่ายของลวดลาย กลุ่มแกะสลักล้านนามีแหล่งจำหน่ายสินค้าอยู่ที่วัดศรีสุพรรณ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวมาอุดหนุนและแวะมาเยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้า
ขั้นตอนในการทำ
ตอนที่ 1 การเตรียมอุปกรณ์และวัสดุ
- ออกแบบลวดลายลงในกระดาษตามที่ต้องการ
- การเตรียมโครงร่างของแผ่นเงิน โดยทำออกมาให้สามารถเทชันลงไปได้
- การทำชัน นำชันกับน้ำมันพืชและดินป่นต้มแล้วคนให้เข้ากัน การใช้งานต้องใช้ในขณะที่ละลาย เพราะง่ายต่อการตักใส่โครงร่าง
ตอนที่ 2 ขั้นตอนในการทำ

- นำชัน ที่ต้มมาเทในโครงร่างแผ่นเงินที่เตรียมไว้ให้เต็ม ตากให้เย็นจึงสามารถนำไปทำขั้นตอนต่อไป
- หลังจากเทชัน ใส่โครงร่างแผ่นเงินแล้วนำกระดาษที่ออกแบบลวดลาย ติดบนแผ่นเงิน
- จากนั้นใช้สิ่วหัวแบน แกะลายตามแบบกระดาษที่ติดบนแผ่นเงิน
- หลังจากแกะลายเสร็จ ถึงขั้นตอนการดุนโดยใช้สิ่วตอกบริเวณที่ต้องการในการดุนจะมีขนาดตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่ เลือกใช้ตามความละเอียดของลวดลาย
- เมื่อทำการดุนเสร็จจะเป็นการเก็บรายละเอียด โดยการใช้ความร้อนของหัวพ่นทำให้ชันอ่อนตัวลงและดุนลายได้ง่ายขึ้นตามความต้องการ
- ทาสี ทิ้งไว้ให้แห้งจากนั้นใช้ผ้าขัดเงา เพื่อให้เกิดมิติและสวยงามขึ้น
- นำสีเคลือบเงาใส่ในกาพ่น แล้วนำไปพ่นตามที่ต้องการ
- ขั้นตอนสุดท้าย การเลือกบรรจุภัณฑ์ตามความเหมาะสมหรือนำไปตกแต่งในสถานที่ต้องการ เพื่อสร้างมูลค่าของงานและให้ภาพเกิดความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ระยะเวลาในการทำ
สำหรับระยะเวลาในการดุนเครื่องเงินนั้น ขึ้นอยู่กับหลายๆสิ่ง ดังต่อไปนี้
- ความละเอียดของลายเส้น
- การดุน เครื่องเงินตามขนาดความนูนของภาพ
- ขนาดของภาพ